สัมปะชาโน สติมา

คนฉลาด จะฝึกเจริญเมตตา
บุคคลผู้ฉลาดในประโยชน์ ปรารถนาจะเข้าถึงพระนิพพานอันสงบ พึงบำเพ็ญไตรสิกขา
 
บุคคลพึงเป็นผู้อาจหาญ ผู้ตรง ซื่อตรง ว่าง่าย อ่อนโยน ไม่เย่อหยิ่ง สันโดษ เลี้ยงง่าย มีกิจน้อย มีความประพฤติเบา มีอินทรีย์อันสงบระงับ มีปัญญาเครื่องรักษาตน ไม่คะนอง ไม่คลุกคลีในสกุลทั้งหลาย ไม่พึงประพฤติทุจริตเล็กน้อยอะไรๆ ซึ่งเป็นเหตุให้ท่านผู้รู้เหล่าอื่นติเตียนได้ พึงแผ่จิตเปี่ยมเมตตาในสัตว์ทั้งหลายว่า
 
 
ขอสัตว์ทั้งปวง จงเป็นผู้มีสุข มีความปลอดภัย มีตนถึงความสุขเถิด
 
สัตว์มีชีวิตเหล่าใดเหล่าหนึ่ง  เป็นผู้สะดุ้งหรือเป็นผู้มั่นคง ผอมหรืออ้วน                
และสัตว์เหล่าใดมีกายยาว ใหญ่ ปานกลาง สั้น ที่เราเห็นแล้วหรือมิได้เห็น  อยู่ในที่ไกลหรือที่ใกล้ ที่เกิดแล้วหรือกำลังแสวงหาที่เกิด ขอสัตว์ทั้งหมดนั้น จงเป็นผู้มีตนถึงความสุขเถิด
 
สัตว์อื่นไม่พึงข่มขู่สัตว์อื่น  ไม่พึงดูหมิ่นอะไรเขาไม่ว่าจะกรณีใด  
 
ไม่พึงปรารถนาทุกข์แก่กันและกัน เพราะความโกรธ เพราะความเคียดแค้น
 
มารดาถนอมบุตรคนเดียวผู้เกิดในตน แม้ด้วยการยอมสละชีวิตได้ ฉันใด
บุคคลผู้ฉลาดในประโยชน์  พึงเจริญเมตตาที่มีในใจโดยไร้ขีดจำกัดในสัตว์ทั้งปวง แม้ฉันนั้น
                         
 
ก็บุคคลนั้น พึงเจริญเมตตาที่มีในใจแบบไร้ขีดจำกัดไปในโลกทั้งสิ้น ทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง ไม่คับแคบ ไม่มีเวร ไม่มีศัตรู
 
บุคคลผู้เจริญเมตตานั้น ยืนอยู่  เดินอยู่  นั่งอยู่  หรือนอนอยู่  พึงเป็นผู้ปราศจากความง่วงเหงาเพียงใด พึงตั้งสตินี้ไว้เพียงนั้น
 
 
บัณฑิตทั้งหลายกล่าวการเป็นอยู่แบบนี้ว่า เป็นพรหมวิหารในธรรมวินัยของพระอริยเจ้า
 
บุคคลผู้เจริญเมตตา ไม่ยึดติดในทิฐิ เป็นผู้มีศีล  ถึงพร้อมด้วยทัศนะ กำจัดความยินดีในกามทั้งหลายออกได้แล้ว ย่อมไม่ถึงความนอนในครรภ์อีกโดยแท้ ฯ
เขียนโดย : สายด่วนชาวพุทธ
เขียนเมื่อ : 5 สิงหาคม พ.ศ. 2559
อ่าน : 1182

สัมปะชาโน สติมาอื่นๆ