ปรึกษาปัญหาชีวิต (สำหรับเจ้าของกระทู้)

พระสงฆ์ในตลาด
รายละเอียด
กราบนมัสการพระอาจารย์ หนูมีเรื่องที่สงสัย ค่ะ : เวลาหนูไปตลาด หนูจะเจอพระสงฆ์ที่ยืนบาตรในตลาดเยอะมาก (จริงๆ ไม่ได้ยืนค่ะ ส่วนใหญ่ นั่ง มากกว่า) และพฤติกรรมก็ไม่สำรวมเลยค่ะ แคะขี้มูก เกาหัว คว่ำบาตร ดูดน้ำหวาน นั่งรอของถวาย คนที่ศรัทธาก็ทำบุญกันไป ซื้อของถวายมากมาย พระอาจารย์รู้มั๊ยค่ะว่า วันนั้นหนูไปตลาด มีขอทาน นั่งใกล้กับพระสงฆ์ ในขณะที่คนรุมล้อมถวายภัตตาหารกับพระสงฆ์อย่างมากมาย จนล้นกระสอบ แต่ ขอทานกลับไม่มีข้าวสักกล่องเลย หนูเลยซื้อข้าว ให้ขอทานกินไปเลย เพราะหนูคิดว่า เค๊าได้กินแน่ๆ และคงทำให้เค๊าปะทังชีวิตได้อีก 1 มื้อ แต่ผู้ที่ได้ผลประโยชน์มากที่สุด ก็คือแม่ค้าที่นิมนต์พระมาแต่ละร้าน พระก็จะประจำร้านนั้นๆ คำถาม 1. ในฐานะที่หนูเป็นพุทธศนิกชนชาวพุทธคนนึง หนูจะบาปมั๊ยค่ะ ที่คิดเชิงลบแบบนี้ เคยได้ยินว่า ทำบุญไปอย่าคิดไรมาก ขอเราบริสุทธิ์ใจ เราก็ได้บุญ แต่สำหรับหนู หนูคิดว่าเราเลือกทำได้ และไม่อยากสนับสนุนให้สงฆ์ทำแบบนี้ 2. 9 โมง พระยังยืนบาตรอยู่ในตลาด ได้ด้วยเหรอค่ะ หนูเคยเห็นเก้าโมง พระก็จะฉันท์กันแล้วค่ะในวัด 3. หนูไม่ได้มีเจตนาจับผิดพระน่ะค่ะ แต่หนูไม่ชอบพฤติกรรม หรือว่าสมัยนี้มันเปลี่ยนแปลงไปเป็นแบบนี้ได้แล้วค่ะ 4. การที่หนูเลือกทำบุญ หนูคิดผิดมั๊ยค่ะ หนูคิดว่า เงินที่หนูทำไปนั้น ควรมีประโยชน์กับผู้รับไม่มากก็น้อย แต่ ถ้าเป็นการส่งเสริม หนูไม่ทำดีกว่า
ความต้องการ
หากสิ่งที่คิดมันผิด หนูคงบาป และตกนรก แน่ๆ ค่ะ และเราควรทำบุญอย่างมี สติ หรือไม่ค่ะ
ชื่อผู้ถาม
ขอความสว่าง
วันที่เขียน
22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 09:12:54
จำนวนคนเข้าดู
1593

คำตอบ

คำตอบที่ 1
1. การยืนหรือเดินบิณฑบาตนั้น เป็นปกติธรรมดา แต่ไม่ควรยืนนานไป ไม่ใช่ยืนรอเวียนรับ หรือเอาอาหารเดิมหมุนเวียนซ้ำซาก นั่นไ่ม่เหมาะสม การไม่สำรวจของพระสงฆ์เองก็เป็นสิ่งไม่เหมาะสม พระท่านต้องศึกษาต้องเล่าเรียนเพื่อจะได้ปฏิบัติได้ถูก (จริง ๆ เขาควรศึกษาให้เข้าใจดีก่อนมาบวช) 

2. ปกติ พระสามารถเดินบิณฑบาตได้ตั้งแต่สว่างจนถึงก่อนเที่ยง ส่วนข้อห้ามพระไม่ให้บิณฑบาตเกิน 8 โมงหรือ 9 โมงเช้านี้ อันนี้เป็นสิ่งที่สังคมไทยกำหนดเองและใช้เฉพาะในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑลเท่านั้น (ตอนหลังก็มีต่างจังหวัดเอาไปใช้ด้วย) ดังนั้น การที่พระเดินบิณฑบาตเกิน 9 โมง จึงไม่ได้ผิดพระธรรมวินัยอะไร เพราะบางท่านฉันมื้อเดียว จะเริ่มฉันก็ 10 โมง 11 โมงก็มี การที่พระเดินบิณฑบาตเกิน 9 โมง  จึงถือว่าไม่เหมาะสมกับสภาพสังคมบางแห่งเท่านั้น แต่ไม่ผิดวินัย ไม่ถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรงอะไร

3. หนูสามารถคิดได้ จับผิดก็ได้ ไม่แปลกอะไรไม่ผิดอะไร เพราะจะทำให้หนูคิดหาคำตอบหาสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสม เป็นการสร้างปัญญาให้กับหนูเอง หนูถือว่าได้ทำหน้าที่ชาวพุทธที่ดีแล้ว ไม่บาปอะไร ตรงกันข้ามการที่หนูไม่คิด ไม่สนใจนี่สิ คือการไม่สนใจใยดีความเป็นไปของศาสนาเท่าไหร่ สังคมใช้ทรัพยากรไปในทางผิด ๆ ในทางเสื่อม ๆ ถ้าไม่มีคนทักท้วง ไม่มีคนสนใจ พระหรือโยมบางคนบางท่านก็จะทำแบบนั้นไปเรื่อย ๆ ถ้ามีคนคิดและทักท้วงก็อาจจำนำไปสู่การปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ หนูทำได้ ไม่ผิด อย่ากังวล

อีกอย่าง การดูแลพุทธศาสนาเป็นหน้าที่ของชาวพุทธทุกคน ไม่ใช่หน้าที่ของพระอย่างเดียว อะไรที่ไม่ถูก เราก็ไม่ต้องไปสนับสนุนส่งเสริม อะไรที่ถูกเราก็สนับสนุนส่งเสริม ต้องช่วยดู ช่วยกันห่วงใย ช่วยกันแจ้งและทักท้วงบอกกล่าวให้คนที่รับผิดชอบได้รู้ได้ทราบ อย่าไปคิดว่า ช่างเถอะ เรื่องของพระ เราไม่เกี่ยว 

4. ถูกแล้ว การทำบุญเราต้องเลือก ต้องทำให้ถูกต้อง จึงจะเป็นบุญ ถ้าทำผิดที่ผิดบุคคล ก็จะกลายเป็นละลายของทิ้งเปล่า ๆ และถ้าไม่มีคนใส่บาตรไม่ถวายข้าวน้ำให้พระเลย พระจะอยู่กันได้อย่างไร  เราก็ต้องคิดกันด้วย เพราะพระไม่ได้ทำอาชีพที่สร้างรายได้ได้ พระวินัยห้ามไม่ให้พระสงฆ์ประกอบอาชีพ แต่กำหนดให้ขอกินคือบิณฑบาตเท่านั้น ถ้าหนูพบเห็นพระไปประกอบอาชีพพระไปทำธุรกิจ แบบนี้ให้รีบแจ้งคนที่รับผิดชอบคือสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติทันที

อย่ากังวล หนูคิดไม่ผิดหรอก คิดได้ ทำได้ด้วย การทำบุญต้องทำด้วยสติ ต้องทำด้วยปัญญา รู้ว่า จุดมุ่งหมายคืออะไร ทำแล้วก็จะเป็นบุญเป็นกุศล และทำให้ทุกฝ่ายทุกส่วนได้บุญได้กุศลได้ความสุขไปด้วยกัน
ชื่อผู้ตอบ
อาจารย์ผู้ให้คำปรึกษา 99
วันที่เขียน
22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 10:50:26
ทั้งหมด 1 รายการ
1 / 1
อ่านป้ายฉลากยา 10,000 รอบ แต่ไม่กินยา มันก็คงรักษาโรคอะไรไม่ได้
เช่นกัน แม้ว่าจะอ่านหนังสือ 10,000 เล่ม ฟังเทศน์ 10,000 เรื่อง ปรึกษาผู้รู้ 10,000 คน ประโยชน์ก็มีเพียงน้อยนิด
หากเราไม่ลงมือทำ ไม่ลงมือปฏิบัติ ไม่พยายามทำ การมัวแต่คิดอยากให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ไปเฉยๆ จะมีผลสำเร็จอะไร