ปรึกษาปัญหาชีวิต (สำหรับเจ้าของกระทู้)

ทำงานที่เกี่ยวกับการฆ่าสัตว์
รายละเอียด
เรียนพระอาจารย์ โยมมีข้อสงสัยต้องการจะสอบถามพระอาจารย์ว่า หากว่าหน้าที่การงานหรือการเรียนของเราเกี่ยวข้องกับการฆ่าสัตว์โดยจำเป็น เช่น ทำงานโรงเลี้ยงหมูที่จะส่งหมูไปฆ่าแต่ไม่ได้ฆ่าด้วยตนเอง หรือ เรียนวิทยาศาสตร์ชีววิทยาที่เกี่ยวข้องกับการสตาฟสัตว์ เช่น ค้างคาว ผีเสื้อ หรือ กบ อย่างนี้จะบาปหรือไม่คะพระอาจารย์
ความต้องการ
จะบาปหรือไม่คะ แล้วจะแก้ไขอย่างไรได้บ้าง
ชื่อผู้ถาม
ณัฐ
วันที่เขียน
25 ตุลาคม พ.ศ. 2556 10:29:37
จำนวนคนเข้าดู
1747

คำตอบ

คำตอบที่ 1
การทำร้าย การฆ่าชีวิตสัตว์หรือคนล้วนบาปทั้งนั้น ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ๆ ก็ตาม บาป แปลว่า ชั่ว เลว ไม่ดี ไม่ถูก แต่ด้วยพัฒนาการของสังคม ด้วยความจำเป็นบางอย่าง ทำให้บางคนต้องยอมทำบาป การฆ่าสัตว์ บาปอาจมากและน้อยแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับหลายเหตุปัจจัย เช่น สัตว์ที่เราฆ่า ถ้มีคุณมาก เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย ก็บาปมาก สัตว์ที่เราฆ่า ถ้ามีคุณน้อย เช่น พวกยุง ก็บาปน้อย ถ้าเราไม่ต้องการทำบาปเลย ก็ไม่เกี่ยวข้องกับงานฆ่าสัตว์ทุกชีวิตเลย แล้วทำไม ยังมีคนฆ่าเป็ด ไก่ ปู ปลา หมู โค กระบือ เพราะยังมีคนกินสิ่งเหล่านี้อยู่ ก็เลยมีคนยอมทำบาป เพื่อให้ได้ค่าจ้าง ในการเรียน บางครั้งแม้ว่าจะทำบาป แต่ผลที่ได้จากการทดลองศึกษา นำมาดูแลรักษาคน ในระยะทดลองเป็นการทำบาป แต่ผลในระยะต่อมา ทำให้ได้ความรู้ใหม่ในการดูแลรักษาคน ก็เป็นเรื่องบุญไป การเลี้ยงสัตว์เพื่อฆ่านั้น โหดร้ายมาก ถ้าเลี่ยงได้ ก็ให้เลี่ยง ชีวิตคนในปัจจุบันนั้น คนที่ไม่ต้องไปฆ่าสัตว์ใด ๆ เลยนั้น หาได้ยากและคนนั้นถือว่ามีบุญมากทีเดียว แต่ส่วนมาก ล้วนทำบุญและบาปผสมปนเปกันทั้งนั้น หน้าที่ของพวกเราต้องพยายามต่อไปที่จะไม่ทำบาป รายละเอียดเพิ่มให้ดูตรงนี้ ปาณาติบาต ปาณาติบาต แยกบทได้ ๒ บท คือ ปาณ --อติปาต ปาณ..... โดยโวหารแล้ว หมายถึง สัตว์ทั้งหลาย อติปาต...แปลว่า เร็ว หรือก้าวล่วงความเบียดเบียน เมื่อรวมกันแล้ว แปลว่า ให้สัตว์ หรือให้ชีวิตตกไปโดยเร็ว หมายความว่า ทำให้สัตว์นั้นตายก่อนจะถึงกำหนดอายุของตน.. องค์ประกอบของปาณาติบาต การทำอกุศลต่างๆนั้นที่เข้าถึงกรรมบทก็มี ที่ไม่ล่วงกรรมบทก็มี แต่ถ้าล่วงกรรมบทแล้ว การกระทำนั้นสำเร็จเป็นชนกกรรม สามารถทำให้เกิดในอบายภูมิได้ แต่ถ้าการกระทำนั้นไม่ล่วงกรรมบท การให้ผลปฏิสนธิในอบายภูมิ ก็ไม่เป็นการแน่นอน เพียงให้ผลในปวัตติกาล คือทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้นั้น ต้องประสบความลำบากต่างๆ... การกระทำจะก้าวล่วงกรรมบทหรือไม่นั้นต้องแล้วแต่องค์ประกอบ คือปโยคะ ในการกระทำนั้น อกุศลปาณาติบาต ที่จะก้าวล่วงปาณาติบาตนั้น ต้องประกอบด้วยองค์ ๕ คือ.. ๑. ปาโณ สัตว์มีชีวิต ๒. ปาณสญฺญิตา รู้ว่าสัตว์นั้นมีชีวิต ๓. วธกจตฺตํ มีจิตคิดจะฆ่า ๔. ปโยโค ทำความเพียร เพื่อให้ตาย ๕. เตน มรณํ สัตว์ตายลง เพราะความเพียรนั้น เมื่อครบองค์ประกอบทั้ง ๕ ประการนี้แล้ว ก็เป็นอันก้าวล่วงกรรมบท แต่ถ้าไม่ครบองค์ทั้ง ๕ ก็ยังไม่ชื่อว่า สำเร็จกรรมบท การฆ่าสัตว์ จะมีโทษมาก หรือโทษน้อย ย่อมขึ้นอยู่กับสัตว์ที่ถูกฆ่า และความพยายามของผู้ฆ่า ซึ่งต้องอาศัยหลักเกณฑ์ ในการพิจารณา ๓ ประการด้วยกัน คือ.. ๑. ร่างกายของสัตว์ที่ถูกฆ่า ถ้าเป็นสัตว์ใหญ่ เช่น ช้าง ม้า โค กระบือ เป็นต้น ก็มีโทษมาก เพราะชิวิตนวกกลาปของสัตว์พวกนี้ ถูกทำลายลงเป็นจำนวนมาก แต่ถ้าสัตว์ที่ถูกฆ่าเป็นสัตว์เล็ก เช่น มด ยุง ริ้น ไร เป็นต้น ก็มีโทษน้อย ๒. คุณธรรมของสัตว์ที่ถูกฆ่า ในระหว่างสัตว์ดิรัจฉาน กับมนุษย์ ฆ่ามนุษย์มีโทษมากกว่าสัตว์ดิรัจฉาน เพราะมนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐกว่าสัตว์ดิรัจฉาน สำหรับการฆ่ามนุษย์กับมนุษย์ด้วยกัน ฆ่าผู้ทั้มีศีลธรรม เช่า ภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา เป็นต้น มีโทษมากกว่าผู้ไม่มีศีลธรรม เช่นโจรผู้ร้าย เป็นต้น ย่อมมีโทษน้อยกว่า ถ้าผู้ถูกฆ่าเป็น บิดา มารดา พระอรหันต์ เป็นอนันตริยกรรม ยิ่งมีโทษมากเป็นพิเศษ ๓. ความเพียรของผู้ฆ่า อาศัยตัดสินโดย ปโยคะ คือในขณะที่ฆ่านั้น ได้ใช้ความเพียรพยายาม มากหรือน้อย ถ้าใช้ความพยายามมาก ก็มีโทษมาก ถ้าใช้ความพยายามน้อยก็มีโทษน้อย ปโยคะ ปโยคะ คือ ความเพียรพยายามในการกระทำปาณาติบาต อันเป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่ง ให้เข้าถึงอกุศลกรรมบทนั้น มีความเพียรพยายามอยู่ ๖ อย่าง ดังพระบาลีที่แสดงว่า สาเหตฺถิโก อาณตฺติโก นิสฺสคฺคีโย จ ถาวโร วิชฺชามโย อิทฺธิมโย ปโยคา ฉยิเม มตา ฯ แปลความว่า ปโยคะ คือความเพียรเหล่านี้ มี ๖ อย่าง คือ ๑. สาหัตถิกะ ได้แก่ พยายามกระทำด้วยตนเอง ๒. อาณัตติกะ ได้แก่ ใช้ให้ผู้อื่นกระทำ ๓. นิสสัคคิยะ ได้แก่ ด้วยการปล่อยอาวุธ มีการ ขว้าง ปา เป็นต้น ๔. ถาวระ ได้แก่ พยายามสร้างเครื่องประหารไว้อย่างถาวร มีการทำหรือซื้ออาวุธปืน มีด หรือ ขุดหลุมพรางดักไว้ เป็นต้น ๕. วิชชามยะ ไดแก่ พยายามใช้วิชชาอาคม ไสยศาสตร์ต่างๆ ๖. อิทธิมยะ ได้แก่ พยายามใช้อิทธิฤทธิ์ ที่เป็นกรรมชอิทธิของตนประหาร เช่นท้าวเวสสุวรรณ ระหว่างที่ยังมิได้สำเร็จเป็นพระอริยะบุคคล เคยฆ่าพวกยักษ์ที่เป็นบริวาร ด้วยการถลึงตา เป็นต้น
ชื่อผู้ตอบ
อาจารย์ผู้ให้คำปรึกษา 99
วันที่เขียน
26 ตุลาคม พ.ศ. 2556 01:21:18
ทั้งหมด 1 รายการ
1 / 1
อ่านป้ายฉลากยา 10,000 รอบ แต่ไม่กินยา มันก็คงรักษาโรคอะไรไม่ได้
เช่นกัน แม้ว่าจะอ่านหนังสือ 10,000 เล่ม ฟังเทศน์ 10,000 เรื่อง ปรึกษาผู้รู้ 10,000 คน ประโยชน์ก็มีเพียงน้อยนิด
หากเราไม่ลงมือทำ ไม่ลงมือปฏิบัติ ไม่พยายามทำ การมัวแต่คิดอยากให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ไปเฉยๆ จะมีผลสำเร็จอะไร