ปรึกษาปัญหาชีวิต (สำหรับเจ้าของกระทู้)

สอบถามพระวินัย
รายละเอียด
เรียน เนื่องด้วยบุตรของกระผมได้ไปบวชที่วัดป่าที่จังหวัดขอนแก่นมา ๔ พรรษา โดยกระผมและภรรยาได้ขอให้พระลูกลงมาเยี่ยมบ้านในเวลาที่มิใช่ช่วงเข้าพรรษา ปีละประมาณ ๔ ครั้ง ห่างกันครั้งละ ๓ เดือน ซึ่งกระผมมีข้อสงสัยเพื่อปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระวินัยดังนี้ ๑. การนิมนต์พระลูกให้ลงมาจำวัดที่บ้าน ซึ่งมีรั้วรอบขอบชิด จำวัดที่ห้องนอนเดิมของท่านเพียงลำพัง แต่ไม่ได้จำวัดบนเตียงนอน ใช้นอนบนฟูกอย่างบาง เพื่อมีโอกาสโปรดโยมพ่อ โยมแม่ โยมย่า โยมยาย และมีโยมเพื่อนมาสนทนาธรรม ให้ได้มีญาติโยมและครูบาอาจารย์ของพระ มานมัสการ แทนการที่โยมพ่อโยมแม่จะบินขึ้นไปเยี่ยมที่ขอนแก่น เช่นนี้ สามารถกระทำได้หรือไม่ ๒. ระหว่างที่พระลูกมาพักที่บ้าน โยมพ่อโยมแม่ หรือโยมอื่น ๆ จะปวารณาถวายภัตตาหารเช้าและเพล โดยไม่ได้ออกบิณฑบาต เป็นการผิดพระวินัยข้อใดหรือไม่ ๓. ระหว่างที่ลงมาพักที่บ้าน ก็จะขอให้โยมพ่อโยมแม่พาไปทำกิจต่าง ๆ เช่น - ไปทำกายภาพเพื่อรักษาร่างกายที่ทรุดโทรมจากการทำงานพัฒนาวัด เช่น ทาสี ปั้นพระ วาดกำแพงและผนัง ทั้งกลางแจ้งและในร่ม - ไปทำฟันหรือตรวจร่างกายประจำปี - ไปชมงานพุทธศิลป์ตามสำนักศิลปะต่าง ๆ เพื่อนำความคิดกลับไปต่อยอดพัฒนาวัด - ไปเยี่ยมชมวัดต่าง ๆ ที่ยังไม่เคยไป - ไปปฏิบัติธรรมในคอร์สต่าง ๆ และในระหว่างวัน ก็กระทำกิจต่าง ๆ ของสงฆ์ตามปกติ ทั้งเรื่องการขบฉันตามเวลา การทำวัตรเช้าหรือเย็น ขอเรียนถามว่ามีข้อกำหนดในพระวินัยหรือไม่ครับว่า พระสงฆ์จะมาพำนักได้ไม่เกินกี่วัน (โดยปกติ พระลูกจะลงมาอยู่ที่บ้านครั้งละประมาณ ๑๐-๑๒ วัน เพื่อให้คร่อมวันเสาร์-อาทิตย์ของ ๒ สัปดาห์ สะดวกในการปรนนิบัติพระครับ) ที่เรียนถามมาก็เพื่อต้องการปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระวินัย ไม่ผิดศีล ไม่ผิดธรรม ทั้งพระและฆราวาส และไม่เกิดโลกะวัชชะ ขอท่านได้โปรดให้ความกระจ่างแก่กระผมตามข้อถามข้างต้นด้วย จะเป็นพระคุณอย่างสูงครับ ขอแสดงความนับถือ
ความต้องการ
ขอความเห็นตามคำถามข้างต้น
ชื่อผู้ถาม
นายยอด-นางสุรีย์
วันที่เขียน
5 มีนาคม พ.ศ. 2562 22:12:01
จำนวนคนเข้าดู
1294

คำตอบ

คำตอบที่ 1
๑. การนิมนต์พระลูกให้ลงมาจำวัดที่บ้าน ซึ่งมีรั้วรอบขอบชิด จำวัดที่ห้องนอนเดิมของท่านเพียงลำพัง แต่ไม่ได้จำวัดบนเตียงนอน ใช้นอนบนฟูกอย่างบาง เพื่อมีโอกาสโปรดโยมพ่อ โยมแม่ โยมย่า โยมยาย และมีโยมเพื่อนมาสนทนาธรรม ให้ได้มีญาติโยมและครูบาอาจารย์ของพระ มานมัสการ แทนการที่โยมพ่อโยมแม่จะบินขึ้นไปเยี่ยมที่ขอนแก่น เช่นนี้ สามารถกระทำได้หรือไม่ ตอบ ถ้าเป็นไปได้ ควรให้พักที่วัด อย่าให้พักที่บ้าน ถ้าจำเป็นต้องพัก ไม่ควรเกิน 3 คืน แต่พระจะมาหรือไม่ มาบ่อยแค่ไหน อยู่ที่พระ ไม่สามารถไปบังคับได้, พูดตามตรงคือ บ้านของญาติโยม มักวุ่นวาย สารพัดเรื่อง (ตามปกติของชาวบ้าน) ไม่สัปปายะเหมือนวัดสำหรับพระ ถ้าไม่จำเป็น พระไม่อยากพักบ้านโยมเลย ๒. ระหว่างที่พระลูกมาพักที่บ้าน โยมพ่อโยมแม่ หรือโยมอื่น ๆ จะปวารณาถวายภัตตาหารเช้าและเพล โดยไม่ได้ออกบิณฑบาต เป็นการผิดพระวินัยข้อใดหรือไม่ ตอบ ไม่ควรทำแบบนั้น พระควรอยู่ที่วัด ไม่คลุกคลีกับโยม หาวัดใกล้ ๆ บ้านให้ท่านพักชั่วคราวได้ ถ้าพระในวัดเขาบิณฑบาต ก็ควรบิณฑบาตตาม บิณฑบาตคืองานหลักอย่างหนึ่งของพระ เว้นแต่สภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยจริง ๆ, จะมาอยู่มาฉันแบบไม่บิณฑบาต ก็เหมือนพระอาพาธในโรงพยาบาล ไม่เหมาะ ๓. ระหว่างที่ลงมาพักที่บ้าน ก็จะขอให้โยมพ่อโยมแม่พาไปทำกิจต่าง ๆ เช่น - ไปทำกายภาพเพื่อรักษาร่างกายที่ทรุดโทรมจากการทำงานพัฒนาวัด เช่น ทาสี ปั้นพระ วาดกำแพงและผนัง ทั้งกลางแจ้งและในร่ม ตอบ ทำได้ แต่ต้องดูความเหมาะสม แต่ปกติ การทาสี ปั้นพระ วาดกำแพง ก็ไม่น่าจะมีผลกับสุขภาพจนต้องไปทำกายภาพขนาดนั้น การเดิน การทำกิจวัตรประจำวันวัด เช่น กวาดลานวัด ก็เป็นการบริหารร่างกายอยู่แล้ว ไม่ต้องมีพิเศษ - ไปทำฟันหรือตรวจร่างกายประจำปี ตอบ ทำได้ ตรวจและรักษาฟันได้ - ไปชมงานพุทธศิลป์ตามสำนักศิลปะต่าง ๆ เพื่อนำความคิดกลับไปต่อยอดพัฒนาวัด ตอบ ไปได้ แต่อาจไม่จำเป็น พวกงานทาสี ปั้นพระ วาดกำแพง ไม่ใช่งานหลักของพระเลย ทำเท่าที่จำเป็นได้ งานของพระคือศึกษาปฏิบัติพระธรรมวินัย ทำไมจะต้องให้พระมาทำงานพวกนี้ (ทางวัดของพระควรปรึกษากัน บวชเพื่ออะไร ) - ไปเยี่ยมชมวัดต่าง ๆ ที่ยังไม่เคยไป ตอบ ไปได้ เท่าที่สมควร แต่ไม่ใช่ตั้งหน้าตั้งตาไปเที่ยวไปเรื่อย ๆ - ไปปฏิบัติธรรมในคอร์สต่าง ๆ ตอบ ปกติ ในวัด น่าจะมีสอนปฏิบัติอยู่แล้ว เพราะการบวชนั่นแหละ คือการปฏิบัติ ถ้าบวชแล้วไม่ปฏิบัติ ก็ไม่ต่างจากไม่ได้บวช แต่ไปศึกษาเทคนิควิธีเพิ่มเติมจากวัดอื่น ๆ ได้ และในระหว่างวัน ก็กระทำกิจต่าง ๆ ของสงฆ์ตามปกติ ทั้งเรื่องการขบฉันตามเวลา การทำวัตรเช้าหรือเย็น ขอเรียนถามว่ามีข้อกำหนดในพระวินัยหรือไม่ครับว่า พระสงฆ์จะมาพำนักได้ไม่เกินกี่วัน (โดยปกติ พระลูกจะลงมาอยู่ที่บ้านครั้งละประมาณ ๑๐-๑๒ วัน เพื่อให้คร่อมวันเสาร์-อาทิตย์ของ ๒ สัปดาห์ สะดวกในการปรนนิบัติพระครับ) ตอบ จำเป็นจริงๆ ไม่ควรอยู่บ้านโยมเกิน 3 คืน สภาพแวดล้อมในบ้านเรือนชาวบ้าน ไม่เหมือนวัด ห้องน้ำห้องท่า ไม่เหมือนกัน ไม่เหมาะอยู่ยาวๆ พระต้องมีการปลงอาบัติกับพระ ต้องมีการลงพระปาติโมกข์ทุกวันพระ 15/14 ค่ำ มาอยู่บ้านโยมไม่เหมาะกับกิจพวกนี้ อีกเหตุผลที่สำคัญที่พระไม่ควรอยู่คลุกคลีโยมคือ มันจะชวนให้พระลาสิกขาได้ง่าย เพราะเดี๋ยวคนนั้นคนนี้ เพื่อน ญาติ มาพบ ก็ชวนคุยเรื่องนั้น เรื่องนี้ ส่วนมากมักเป็นเรื่องในอดีตของพระที่ยังเป็นฆราวาส แล้วก็จะทำให้พระไม่อยากบวชอยู่ต่อ อยากลาสิกขา ------------ แนะนำและพาไปศึกษาแนวทางปฏิบัติที่นี่ได้ วัดภัททันตะอาสภาราม 118/1 หมู่ 1 บ้านหนองปรือ ตำบลหนองไผ่แก้ว อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี 20220 พิกัด GPS: 13.2359660, 101.2095900 เว็บ: www.watbhaddanta.com อีเมล์: bhaddanta@gmail.com เฟสบุ๊ค: https://www.facebook.com/bhaddantaasabha ไลน์: @watbhaddanta.com ยูทูป: https://www.youtube.com/channel/UC-KPoUWjaoJL1b_9nq5xPnA โทรศัพท์(สำนักงาน) 038-160509 มือถือ(สำนักงาน) 086-8198358 มือถือ(แจ้งยอดทำบุญ) 084-6787160 การเดินทาง รถโดยสาร เดินทางโดยรถทัวร์ (บ.เชิดชัยทัวร์) เอกมัย 02-3912804 ออก 05:00 - 23:30 หนองปรือ 098-8327468 ออก 07:00 - 02:00 เดินทางโดยรถตู้ (บ.NJ ผู้ใหญ่ปู) หมอชิต เกาะดินแดง โต๊ะ 33 โทร 090-7319024-5 หนองชาก โทร 090-7318968 บ้านบึง โทร 091-4354738 หมอชิต โทร 090-7319025 รถออกเวลาตี 5 ถึง 1 ทุ่ม ทุกวัน โทร 090-5622019
ชื่อผู้ตอบ
อาจารย์ผู้ให้คำปรึกษา 99
วันที่เขียน
6 มีนาคม พ.ศ. 2562 08:15:48
ทั้งหมด 1 รายการ
1 / 1
อ่านป้ายฉลากยา 10,000 รอบ แต่ไม่กินยา มันก็คงรักษาโรคอะไรไม่ได้
เช่นกัน แม้ว่าจะอ่านหนังสือ 10,000 เล่ม ฟังเทศน์ 10,000 เรื่อง ปรึกษาผู้รู้ 10,000 คน ประโยชน์ก็มีเพียงน้อยนิด
หากเราไม่ลงมือทำ ไม่ลงมือปฏิบัติ ไม่พยายามทำ การมัวแต่คิดอยากให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ไปเฉยๆ จะมีผลสำเร็จอะไร